สศก. ร่วมเวที LMI - FLM RWG ครั้งที่ 10 ผลักดันกรอบความร่วมมือ รุกแผนริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

ข่าวที่ 156/2560 วันที่ 7 ธันวาคม 2560 สศก. ร่วมเวที LMI - FLM RWG ครั้งที่ 10 ผลักดันกรอบความร่วมมือ รุกแผนริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง สศก. ร่วมประชุมคณะทำงานระดับภูมิภาคข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่างและมิตรประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง หรือ LMI และ FLM RWG ครั้งที่ 10 ณ กรุงเวียงจันทน์ ร่วมผลักดันการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ย้ำเป้าหมายการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สศก. ได้ร่วมประชุมคณะทำงานระดับภูมิภาคข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่างและมิตรประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative and Friends of the Lower Regional Working Group: LMI and FLM RWG) ครั้งที่ 10 ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมี รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (นายนิกรเดช พลางกูร) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย การประชุม LMI และ FLM RWG ครั้งที่ 10 เป็นการประชุมเพื่อหารือเรื่องการจัดระเบียบโครงสร้างสาขาความร่วมมือภายใต้กรอบ LMI และการหาแนวทางเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน รวมทั้งทบทวนเป้าหมายการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ปี 2559-2563 ในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ความเชื่อมโยง การศึกษา ความมั่นคงด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อมและน้ำ และ สาธารณสุข รวมทั้งประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การจัดระเบียบ/ปรับปรุงโครงสร้างสาขาความร่วมมือภายใต้กรอบ LMI ที่ประชุมเห็นควรให้มีการดำเนินงานในลักษณะของการบูรณาการระหว่างสาขาที่มีความเกี่ยวข้องกันเพื่อลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้น ข้อเสนอโครงการด้านการเกษตรจึงควรเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมแก่ประเทศสมาชิกในภูมิภาค ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เสนอโครงการ LMI University Network และ LMI Young Scientist Program ภายใต้สาขาการศึกษาที่มีไทยและสหรัฐอเมริการ่วมกันเป็นผู้นำในสาขานี้และสาขาความมั่นคงด้านพลังงาน โอกาสเดียวกันนี้ ที่ประชุมได้หารือและรับทราบความก้าวหน้าในเรื่องต่างๆ ในสาขาการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร โดยองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Agency for International Development: USAID) ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ 2 โครงการ คือ 1) Regional Innovation Ecosystem and Youth Networks ซึ่งต้องการกระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจด้านการเกษตร และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตร และ 2) Regional Seed Trade policy reform ที่ต้องการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมกับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ในส่วนของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า แต่ละประเทศควรจัดทำกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเป็นภาษาอังกฤษเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน อีกทั้ง ควรมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงมีการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนให้มากขึ้น ********************* ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ